วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทความชวนอ่าน - ว่าด้วยเรื่องก่อนอยุธยา


ว่าด้วยยุคก่อนอยุธยา

มีการพบหลักฐานของการตั้งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยมากมาย ย้อนหลังไปได้ถึงยุคพุทธกาล เมืองโบราณ ต่างๆในบริเวณนี้ มีอาทิ เช่น อู่ทอง อโยธยา ศรีมโหสถ ไตรตรึงส์ นครปฐม(พระปถม) ละโว้ เป็นต้น
ล่าสุด (เดือน กันยายน 2543) ก็มีข่าวการค้นพบเมืองโบราณในเขต บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของ อาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่ถูกกล่าวถึงในพระไตรปิฎก

ความมั่งคั่ง และความหนาแน่นของผู้ที่หากินอาศัยในบริเวณนี้ เป็นเหตุให้เกิดชุมชนเมืองมาแต่โบราณ ที่มีความสำคัญต่อ ความเป็นอยู่ของชุมชนอื่นๆโดยรอบ ซึ่งพิจารณาได้จากความเป็นศูนย์กลางการค้า โดยดูจากตำนานความมั่งคั่งของสุวรรณภูมิ แดนสวรรค์ของเหล่าพ่อค้าสำเภา และความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาค โดยดูจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ตำนานหลายตำนานได้แสดงถึงแรงดึงดูด ให้ราชวงศ์กษัตริย์เข้ามาแย่งชิงอำนาจเหนือภูมิภาคแห่งนี้ ไปพร้อมๆกับ แสนยานุภาพที่เข้มแข็ง สามารถแผ่เดชานุภาพ ครอบงำภูมิภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ เช่น ตำนานการเสียเมืองเชียงแสน ให้กับพวกไทยใหญ่ และเชื้อสายพระเจ้าพรหมมาตั้งเมืองไตรตรึงส์ (อยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์) สอดรับกับ ตำนานการกำเนิดเมืองอู่ทองที่ว่า



พระธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงส์ได้เสวยมะเขือของท้าวแสนปมจนตั้งครรภ์ และพระอินทร์ เนรมิตเมืองอู่ทองให้ท้าวแสนปมขึ้นครอง ทั้งยังมีตำนานที่กล่าวถึงการว่างกษัตริย์ของเมืองสุพรรณบุรี เชื้อสายพระเจ้าพรหมได้ยกกำลังมาซุ่มดูเหตุการณ์ ชาวเมืองเห็นลักษณะเข้าตำรา


จึงยกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชวงศ์สุพรรณบุรีต่อมา


ในตำนานจามเทวีกล่าวถึง การรุกรานของขุนวิลังคะ กษัตริย์ชาวลัวะ ซึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็ง เมืองหริภุญชัยไม่สามารถ ต้านทานได้ จนพระนางจามเทวีใช้มารยาหญิง จึงรอดพ้นจากการถูกครอบครองได้


พิจารณาจากตำนานเมืองเชียงแสนที่ว่าต้นราชวงศ์คือปู่จ้าวลาวจก หรือพระเจ้าลวจักรราช ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านตี ความว่าเป็นผู้นำชาวลัวะ ประกอบกับ การเสียเมืองเชียงแสนให้กับขอม ในรัชสมัยพระเจ้าพิงคราช แล้วกู้คืนได้โดยพระเจ้าพรหมผู้เป็นบุตร



ผมสงสัยว่าตำนานทั้งสอง คงจะมีรากฐานจากข้อเท็จจริงเดียวกัน บางทีขุนวิลังคะอาจจะเป็นพระเจ้าพรหมก็ได้



ละโว้ และหริภุญชัยยังถูกกล่าวถึงในตำนานที่เกี่ยวกับศรีวิชัย (เอ หรือว่า นครศรีธรรมราชก็ไม่รู้ซิ ชักเลือนๆ) ว่าครั้งหนึ่ง กษัตริย์ละโว้ยกไปรบกับกษัตริย์หริภุญชัย ทัพของศรีวิชัยก็ฉวยโอกาสเคลื่อนกำลังมาครอบครองละโว้ เมื่อทัพละโว้ทราบข่าว ว่าเสียเมืองก็รีบตรงเข้าเมืองหริภุญชัยได้ก่อน วงศ์เดิมของหริภุญชัยจึงสาบสูญตั้งแต่นั้นมา


นักโบราณคดียังพบความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างละโว้ กับพระนคร (เขมร) ซึ่งเดิมเชื่อว่าพระนครมีอำนาจเหนือละโว้ แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สร้างอยุธยา ลพบุรีเป็นดังเมืองลูกหลวงของอยุธยา และพระเจ้าอู่ทองได้ส่งกองทัพนำโดยขุนหลวงพะงั่ว (น้องเมีย) แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี ไปตีพระนครได้สำเร็จ โดยให้เหตุผลที่ไปตีว่า "ขอมแปรพักตร์" จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ราชวงศ์อู่ทอง มีอำนาจสุงสุดเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคนี้แล้ว ตั้งแต่ก่อนสร้างอยุธยา ประวัติศาสตร์ยังได้กล่าวถึง สามพ่อขุน คือ พญาเม็งรายแห่งล้านนา พญางำเมืองแห่งภูกามยาว และพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ต่างก็ถูกส่งไปเรียนต่อเมืองนอกในสมัยนั้น คือ ละโว้


พ่อขุนผาเมืองผู้ร่วมรบขับไล่ขอมกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดูจะสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสุโขทัย แต่ก็ไม่น่าเป็นเช่นนั้น เพราะพิจารณาจากที่พ่อขุนผาเมืองได้รับพระราชทานพระธิดา จากผีฟ้าแห่งยโสธรปุระ (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) เป็นมเหสี ย่อมแสดงถึงศักดานุภาพที่ไม่ธรรมดา เกินกว่าจะสาบสูญไปง่ายๆ จากหน้าประวัติศาสตร์



ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนศิลาจารึกหลักที่ 2 มีระบุนัยยะสำคัญว่า เมื่อสูงวัยพ่อขุนผาเมืองได้กลายเป็นอาจารย์ สอนศิลปศาสตร์แก่กษัตริย์ทั้งปวง ผมจึงเอาแพะมาชนแกะ สงสัยว่าท่านคงจะเป็นครูของพ่อขุนทั้งสาม และในจารึกเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงบิดา และตัวหลวงพ่อศรีศรัทธา ผู้เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง ว่ามีรากฐานเดิมอยู่ที่ละโว้ ผมจึงยิ่งเกิดแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้นว่า แพะกับแกะคงจะชนกันได้พอดี ประกอบกับนักประวัติศาสตร์หลายท่านยังมองว่า พ่อขุนผาเมืองได้ไปครองเขมร หรืออย่างน้อยเมืองใหญ่เมืองหนึ่งใต้อิทธิพลเขมร



ฉะนั้นประวัติศาสตร์ฉบับแพะๆแกะๆของผมจึงมองว่า เชื้อสายของพ่อขุนผาเมืองคงจะได้ตั้งราชวงศ์ที่ทั้งเขมร และไทยต่างก็กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ เป็นศูนย์กลางอำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สืบทอดมาถึงพระเจ้าอู่ทอง นั้นเอง หลักสำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีนี้ คือ ข้อสรุปของจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าด้วยการเรียกชาวใต้ว่าขอมของชาวเหนือ ซึ่งผมตีความว่า ชาวเชียงแสนในยุคเดียวกับพระนางจามเทวีคงจะเรียก ชาวหริภุญชัยว่าขอม


ครั้นต่อมาชาวสุโขทัยก็เรียกผู้ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่าขอม



ในยุคที่ละโว้กับพระนครมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คำว่าขอมในสายตาของชาวเหนือ จึงรวมเอาเขมรไปด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลไม่น้อย ที่ผมเหมาว่าพระเจ้าอู่ทองท่านเป็นเชื้อสายชาวเหนือ ท่านจึงสมรสกับเชื้อสายชาวเหนือด้วยกัน (ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทั้งราชวงค์สุพรรณบุรี และต้นราชวงศ์อู่ทองสืบเชื้อสายจากพระเจ้าพรหม) แถมน้องเมียของท่าน คือขุนหลวงพะงั่ว ก็ได้สมรสกับชาวสุโขทัยเสียอีก เข้าตำราการสงวนวงศ์อสัญแดหวาอย่างยิ่ง พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเรียกเขมรว่าขอมเป็นธรรมดาประสาชาวเหนือ แพะและแกะจึงชนกันได้ด้วยประการฉะนี้ละครับ ท่านสารวัตร



ยังไม่เท่านั้นนะครับ อันว่าเมืองราดเมืองเดิมของพ่อขุนผาเมืองนั้น บางกระแสก็ว่าอยู่แถบนครไทย (พิษณุโลก ค่อนมาทาง เพชรบูรณ์-เลย) และยังมีที่ว่าว่าเป็นเชื้อสายของพระเจ้าพรหมเสียอีก บางทีในยุคสุโขทัย-ต้นอยุธยา อาจมีความเชื่อว่าราชวงศ์ สุโขทัยสืบทอดมาแต่พระเจ้าพรหมเช่นกัน


การค้นพบวัตถุโบราณร่วมสมัยทวารวดีในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีความประณีตบรรจงยิ่งกว่าศิลปวัตถุในยุคเดียวกันที่ค้น พบในที่อื่น แม้ตามเมืองท่า ดูจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ความเจริญ และอำนาจที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่อื่น


วัดพนัญเชิงซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีฯ ยังมีตำนานของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับพระราชทานพระราชธิดาจากพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งผมสงสัยว่าน่าจะเป็นราชวงศ์สุพรรณบุรี เพราะในยุคต้นกรุงศรีฯ ที่กษัตริย์อยุธยาแตกคอกับทางสุพรรณบุรี



เมืองจีนก็ยังรับรองกษัตริย์แห่งเมืองสุพรรณว่าเป็นอ๋อง โดยพระราชทานตราตั้งให้แทนที่จะให้กษัตริย์อยุธยา ซึ่งมีพระราชอำนาจมากกว่า ก็คงด้วยสนิทใจว่าเป็นญาติกันกระมัง?


แต่ประเด็นสำคัญที่จะชี้ให้เห็นจากตำนานนี้ก็คือ พระบรมเดชานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม้พระเจ้ากรุงจีนยังต้องเกรงใจ มาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงศรีฯ ซึ่งก็เป็นประเด็นสนับสนุนที่ชวนให้เชื่อได้ว่า พระนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีฯ



คุณไมเคิล ไร้ท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในแถบนี้ต่างก็ได้รับอิทธิพลอารยะธรรมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมหาภารตะยุทธ์ หรือ เทวานุภาพของพระราม แต่กลับมีแต่เพียงในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นำเอาชื่อเมืองเหล่านี้มาใช้ ในเขมรกลับไม่ใช้ ในความเห็นผมมองว่า ก็ด้วยความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจมาตั้งแต่ยุคอโยธยา พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ด้วยพระบรมเดชานุภาพที่สมกับพระนาม และชื่อเมืองอย่างแท้จริง



นึกได้อีกตำนานที่มีนัยยะสำคัญแสดงการสู้รบอันยาวนาน ระหว่างชาวเหนือกับชาวใต้ (ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) นั้นคือ ตำนานพระร่วง ซึ่งมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน แต่ก็ล้วนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งของสุโขทัย ในยุคก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เข้าใจว่า หลายร้อยปี) ผู้เป็นราชโอรสของกษัตริย์สุโขทัยกับนางนาค ซึ่งภายหลังเป็นผู้ที่สามารถต่อต้านขอมผู้ครอบครองได้ และเป็นที่มาของตำนาน ปลีกย่อยไปอีก เช่น ขอมดำดิน และการใช้ชะลอมส่งส่วยน้ำให้ขอมแทนตุ่ม



เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สื่อประเด็นสำคัญของความเป็นมาในภูมิภาคนี้ในอดีต ที่บ่งชี้ความเจริญ และศูนย์กลางแห่งอำนาจนั้นอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอด โดยแผ่อำนาจขึ้นไปทางเหนือเป็นเวลานับพันปีมาแล้ว ในขณะที่ฝ่ายเหนือก็พยายามสู้รบต่อต้านมาโดยตลอดเช่นกัน จนมารวมกันได้ติดอย่างแท้จริงในสมัยอยุธยา (ผนวกสุโขทัย) และยุครัตนโกสินทร์ (ผนวกล้านนา) และความพยายามในการรวมดินแดนแถบเหนือและใต้ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ก็มีมาโดยตลอดพันปีเช่นกัน ดูจากตำนานต่างๆ ที่ล้วนอ้างสิทธิความชอบธรรมในราชสมบัติของอาณาจักรฝ่ายเหนือ จากความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ของผู้ครองบัลลังค์ฝ่ายใต้ จนดูจะพัฒนาเป็นราชประเพณีสำคัญของราชสำนักไป แม้ในยุครัตนโกสินทร์เองก็มีหนังสือ "อภินิหารบรรพบุรุษ" ที่กล่าวถึงการสืบราชวงศ์จักรีมาแต่ราชวงศ์พระร่วง



ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์อารยธรรมต่างๆ ก็ดูมีเค้ามูลความเป็นไปได้อยู่มากเช่นกัน เช่น จีนที่ถูกมองโกลรุกราน แต่กลับกลืนผู้ครอบครองให้กลายเป็นจีนไป หากความเจริญ และร่ำรวยที่ยาวนานก็สร้างความอ่อนแอให้กับระบบ จนทำให้ผู้ที่เคยอยู่ใต้การปกครองลุกขึ้นมาต่อต้าน แล้วกลายเป็นผู้ปกครองได้ หากผู้ปกครองใหม่ย่อมถูกดึงดูดให้ไปอยู่ที่ที่เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ในการปกครองและเศรษฐกิจ ด้วยอารยธรรมที่เข้มแข็งกว่า หรืออาจผสมโดยนโยบายทางรัฐศาสตร์ ที่ต้องการสร้างความกลมกลืน เป็นเหตุให้ราชวงศ์ใหม่กลายเป็นขอมไปด้วย ตำนานที่เล่าสืบกันมาแต่โบราณจึง อาจเป็นเค้าเงื่อนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาในอดีตอย่างเที่ยงตรงกว่า การสร้างทฤษฎีของนักวิชาการบางท่านด้วยซ้ำไป



ดังนั้นจากแนวคิดนี้เราจึงเห็นความเป็นขอมที่ไม่ใช่เขมร หากเป็นคำเรียกชนกลุ่มหนึ่ง โดยชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งผู้เรียกและผู้ถูกเรียก เมื่อ 1,000ปีก่อน ก็จะเป็นคนละกลุ่มกับ ในเวลา 500 ปี ต่อมายิ่งไปกว่านั้น ความเป็นไทยในปัจจุบัน จึงมีที่มาอันหลากหลายและกว้างขวางยิ่ง จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปราสาทหิน และวัตถุโบราณ แบบขอม ที่เราพบอยู่เกลื่อนกลาดในภูมิภาคนี้ คือมรดกของไทยอันชอบธรรม
ขอขอบพระคุณ ผู้เขียน คุณ ถาวภักดิ์ และที่มา วิชาการดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น