วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

บทความชวนอ่าน - ประวัติศาสตร์อาณาจักรลังกาสุกะ (นครปัตตานี) ตอนที่ ๒

ประวัติศาสตร์อาณาจักรลังกาสุกะ (นครปัตตานี) ตอนที่ ๒


เมืองโบราณบนแหลมมลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกและจดหมายเหตุชาวจีน อินเดีย และชวา ได้แก่
จารึกเมืองตันโจ ของพระเจ้าราเชนทร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ มีชื่อเมือง ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก ของแหลมมลายู ที่พระองค์ อ้างว่า ได้ส่งกองทัพเรือมายึดครองไว้ได้นานถึง ๒๐ ปี คือ เมืองไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) เมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช)
หนังสือ จู-ฝาน-ชี ของเจาจูกัว ก็ได้เขียนเล่าเรื่องมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัยไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๗๖๘ ศรีวิชัยมีเมืองขึ้น ๑๕ เมือง เฉพาะที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ได้แก่ ปอง-ฟอง (ปาหัง) เต็งยานอง (ตรังกานู) หลังยาสิเกีย (ลังกาสุกะ) กิลันตัน (กลันตัน) ตันมาหลิง (นครศรีธรรมราช)
หนังสือ เนเกอราเกอรตาคามา ของพระปัญจา นักบวชในลัทธิศิวพุทธแห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๘ ก็อ้างว่ากองทัพเรือของชวา สามารถเข้ายึดครองเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูไว้ได้ คือ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน และลังกาสุกะ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕
จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีชื่อเมืองปัตตานีอยู่เลย ตามประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี ฉบับของนายหะยีหวันอาซัน กล่าวว่า เมืองปัตตานี เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยของพยาอินทิรา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ มีนามว่า "ปัตตานีดารัสสลาม" (นครแห่งสันติ)
คำ ปัตตานี นี้ เลือนมาจากคำในภาษาสันสกฤต คือ "ปตฺตน" แปลว่า "กรุง, ธานี, นคร, เมือง" ดังจะเห็นได้จากชื่อเมืองหนึ่งของอินเดียภาคใต้ ถิ่นฐานของโจฬะ ที่เคยมายึดครองเมืองลังกาสุกะ คือ เมือง "นาคปตฺตน"
สาเหตุที่พญาอินทิรา ย้ายเมืองโกตามหลิฆัยหรือลังกาสุกะ มาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นใหม่ ณ บริเวณสันทราย ตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีในปัจจุบัน จะนำมากล่าวในตอนหลัง
ดังนั้น ชื่อของเมืองลังกาสุกะ จึงไม่ปรากฏในเอกสารของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในแหลมมลายู หลังจากปี พ.ศ.๒๐๕๔ แต่ปรากฏ ชื่อเมืองปัตตานี หรือตานี ขึ้นมาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากเอกสารของพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ แม่แต่เอกสาร ชาวจีน ระยะหลัง เช่น เรื่องอาณาจักรทางทะเลของปิงหนาน ก็ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า
อาณาจักรต้าหนี "ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสงขลา การเดินทางจากสงขลาทางบกใช้เวลา ๕-๖ วัน ทางน้ำ โดยลมมรสุม ประมาณวันเศษก็ถึง ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดเป็นแนวยาวติดต่อกัน อาณาเขตหลายร้อยลี้ จารีตประเพณี และทรัพยากร มีความคล้ายคลึง กับสงขลา ประชากรมีจำนวนน้อย แต่อุปนิสัยดุร้าย ภูเขาที่นี่มีทองคำมาก อาณาจักรนี้ขึ้นกับสยาม แต่ละปี ต้องถวาย เครื่องราชบรรณาการด้วยทองคำ ๓๐ ชั่ง"
เรื่องราวของราชฑูต กษัตริย์เมืองลังกาสุกะ ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ ปรากฏในจดหมายเหตุจีนต่อมาว่า ในปี พ.ศ.๑๐๖๖-๑๐๗๔ และ พ.ศ.๑๑๑๑ กษัตริย์ลังกาสุกะ ได้ส่งฑูตไปสู่ราชสำนักจีนอีก แต่จีนก็มิได้ให้รายละเอียดอย่างเช่นคราวราชฑูตอชิตะ
ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ รัฐลังกาสุกะก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่ง ตกไปเป็นเมืองขึ้น ของกษัตริย์กรุงศรีวิชัย และกษัตริย์โจฬะ แห่งอินเดียใต้ ดังปรากฏหลักฐานจารึกที่เมืองตันจอร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๙๕ กล่าวว่า
"พระเจ้าราเชนทร์ส่งทัพเรือไปกลางทะเล และจับพระเจ้าสังกรมวิชยค์ตุงคะวรมันกษัตริย์ แห่งคะดะรัม (เกดาห์) และยึดได้ รัฐปันนาย ที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ในอ่างเก็บน้ำ รัฐมลายูโบราณที่มีภูเขาเป็นป้อมปราการล้อมรอบ รัฐมะยิรูดิงคัม ซึ่งล้อมรอบ ไปด้วยทะเล จนดูประหนึ่ง เป็นคูเมือง รัฐไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) ซึ่งเก่งกล้าในการรบ เมืองบัปปะปะลัม (ปาเล็มบัง) ที่มีน้ำลึกเป็นแนวป้องกัน เมืองเมวิลิมบันกัม ที่มีกำแพงเมือง สง่างาม เมืองวาไลยคุรุที่มีวิไลยพันคุรุ เมืองดาไลยตักโคลัมที่ได้รับการสรรเสริญจากคนสำคัญๆ ว่าเชี่ยวชาญ ทางวิทยาการ รัฐตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) ที่ใหญ่ยิ่งสามารถในการรบ เมืองอิลามุรีเดแอมที่ดุเดือดในการรบ เมืองนักกะวารัม ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีสวนใหญ่โต มีน้ำผึ้งมาก"
หลังจากตีเมืองเหล่านี้ได้แล้ว พระเจ้าราเชนทร์โจฬะ ได้ส่งกองทหารเข้ามายึดครองหัวเมืองในแหลมไทย-มลายูไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมารัฐศรีวิชัยผู้มีกำลังนาวิกภาพเข้มแข็งก็ได้มาผนวกเอารัฐลังกาสุกะเข้าไปไว้ในอำนาจของตน พร้อมด้วยรัฐต่างๆ อีก ๑๕ รัฐ ตามที่ชาวจีน ชื่อ เจาจูกัว เขียนเล่าไว้ในหนังสือชูผันจิ ดังต่อไปนี้ คือ
๑. รัฐ เป็ง-โพ็ง (ปอง-ฟอง หรือ ปาหัง?)
๒. รัฐ เต็ง-ยา-น็อง (ตรังกานู?)
๓. รัฐ ลิง-ยา-ลิงเกีย (ลังกาสุกะ)
๔. รัฐ กิ-ลัน-ตัน (กลันตัน)
๕. รัฐ โฟ-โล-ตัน
๖. รัฐ ยิ-โล-ติง
๗. รัฐ เซียม-มาย
๘. รัฐ ปะ-ตา
๙. รัฐ ตัม-มา-หลิง (นครศรีธรรมราช)
๑๐. รัฐ เกีย-โล-หิ (ครหิ-ไชยา)
๑๑. รัฐ ปา-ลิ-ฟอง (ปาเล็มปัง)
๑๒. รัฐ สิน-โค (สุนดาในเกาะชวา)
๑๓. รัฐ เกียน-ปาย
๑๔. รัฐ ลัน-วู-ลิ (ลามูริในเกาะสุมาตรา)
๑๕. รัฐ ซี-ลัน (ซีลอนหรือลังกา)
ต่อมาราชอาณาจักรศรีวิชัยได้แตกสลายตัวลง ดี.จี.อี.ฮอลล์ว่า เนื่องจากถูก "พวกไทย ทางแม่น้ำ เจ้าพระยา ฝ่ายเหนือ และอาณาจักร สิงหัดส่าหรี ในชะวาตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง" โจมตี ทำให้อิทธิพลของกษัตริย์ศรีวิชัยบนแหลมไทย-มลายูต้องเสื่อมอำนาจลง ประการสุดท้าย เกิดจากชาวจีน มีความรู้ ในเรื่องการเดินเรือ และการต่อเรือสำเภาที่มีคุณภาพดี สามารถออกทำการค้าขายกับเมืองต่างๆ ตามหมู่เกาะชวา และติดต่อขายกับพ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียโดยตรง ไม่ต้องผ่านเมืองท่าที่อยู่ในอาณัติของศรีวิชัย ซึ่งเคยเป็น ศูนย์กลางค้า ระหว่าง โลกตะวันตก กับโลกตะวันออก อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีวิชัยต้องทะลายลง
อาณาจักรสิงหัดสาหรี ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าชายจายากัตวัง แห่งแคว้นเคดิรี ลอบเข้ามา โจมตี นครหลวง ในขณะที่ พระเจ้า เกอรตานาการา กำลังประกอบพิธีบูชาศิวะพุทธเจ้า เจ้าชายวิชายา ราชบุตรเขย ซึ่งยอมจำนนต่อเจ้าชายจายากัตวัง และได้รับ การแต่งตั้ง ให้ไปปกครองดินแดนในแถบลุ่มน้ำ Brantas ได้รวบรวมกำลังขึ้นต่อสู้กู้เอกราชกลับคืนมาได้ และได้จัดตั้ง อาณาจักร มัชฌปาหิต ขึ้นในปี พุทธศักราช ๑๘๓๖
หนังสือเนเกอราเกอรตากามา แต่งโดยพระปัญจนักบวชในลัทธิศิวะพุทธ ได้กล่าวถึงอิทธิพลของกษัตริย์มัชฌปาหิตว่า ได้ส่ง กองทัพเรือ เข้ามา ยึดครอง ดินแดนตามหมู่เกาะ ตลอดขึ้นมาถึงปลายแหลมไทย-มลายู ยึดปาหัง เสียมวัง กลันตัน และตรังกานู ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า ลังกาสุกะ ไว้ได้
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้บันทึกสนับสนุนข้อความที่พระปัญจเขียนไว้ว่า "ครั้งนั้นเจ้าเมืองชาว ยกไพร่พลมาทางเรือ มารบ เอาเมือง ชวา จับตัวพระยา ได้พระอัครมเหสี ก็ตามพระยา (นครฯ) ไปถึงเกาะอันหนึ่ง ได้ชื่อว่า เกาะนาง โดยครั้งนั้น ชวา ก็ให้ เจ้าเมือง ผูกส่วย ไข่เป็ด แก่ชวา ชวาก็ให้พระยา (นครฯ) คืนมาเป็นเจ้าเมือง" ตามเดิม
ในระยะเดียวกันนี้ อาณาจักรสุโขทัยก็ได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองรัฐละโว้-อโยธยา สุพรรณภูมิ และนครศรีธรรมราช ไว้ และได้ผนวก กำลัง กันเข้าทำการขับไล่อิทธิพลของกษัตริย์มัชฌปาหิตออกไปจากแหลมไทยมลายู ดังปรากฏ หลักฐาน แสดงอาณาเขต ของ อาณาจักร สุโขทัยในครั้งนั้นไว้ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า "เบื้องหัวนอนรอด คนที แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว" หลักฐานจีนก็ว่า ปี ค.ศ.๑๒๙๕ (พ.ศ.๑๘๓๘) จีนส่งฑูตมาตักเตือนสุโขทัยไม่ให้รุกรานมาลิยูเออร์ (ความสัมพันธ์ระบบบรรณาการ ระหว่าง จีนกับไทย หน้า ๓๗ ของ ดร.สืบแสง พรหมบุญ มาลิยูเออร์ นี้ บางท่านว่า คือ เมืองแจมบี ในเกาะสุมาตรา)
รัฐลังกาสุกะ จึงเข้ามารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรของชาวไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น พระญาติ ของพระเจ้าขุนรามคำแหงตั้งแต่นั้นมา ดังที่โทเมบีเรส์ กล่าวว่า "ผู้เป็นใหญ่" (ในการบังคับบัญชาราชอาณาจักร) รองลงมา (จากพระเจ้าแผ่นดิน) คืออุปราชแห่งเมืองนคร เรียกกันว่า "Poyohya" (พ่ออยู่หัว) เขาเป็นผู้ว่าราชการจากปะหังถึงอยุธยา และหลักฐาน ทางจีน ก็กล่าวว่า ใน ค.ศ.๑๔๑๙ (พ.ศ.๑๙๖๒) "ขันทีหยางหมิน (Yangmin) เดินทางมาไทย พร้อมกับ อัญเชิญ คำตักเตือน ของ องค์จักรพรรดิ์ ต่อการรุกรานมะละกาของไทย"
กษัตริย์มะละกาขณะนั้น คือ เจ้าชายปรเมศวร หนังสือ Sumariental ของ Tome Pires กล่าวว่า เจ้าชาย ปรเมศวร มีเชื้อสาย มาจาก ราชวงศ์ ไศเลนทร์ แห่งเมืองปาเล็มบัง ไปได้เจ้าหญิงในราชวงศ์มัชฌปาหิตมาเป็นพระชายา ต่อมาเกิดขบถขึ้นในเมืองมัชฌปาหิต โดยเจ้าชาย วีรภูมิเป็นผู้นำ ในปี ค.ศ.๑๔๐๑ (พ.ศ.๑๙๔๔) จึงลี้ภัยการเมืองมาอาศัยเจ้าเมือง Tamasik (สิงคโปร์) ภายหลัง เจ้าชาย ปรเมศวร ได้ลอบฆ่า เจ้าเมือง Tammasik เจ้าเมืองปัตตานีซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมือง Tammasik ได้ขับไล่ปรเมศวรออกไปจากเมือง Tammasik ปรเมศวรจึงหนีมาตั้งเมืองมะละกาขึ้นในปี ค.ศ.๑๔๐๓ (พ.ศ.๑๙๔๖)
ต่อมา เจ้าชายปรเมศวรได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาเจ้าเมืองปาไซในเกาะสุมาตราที่นับถือศาสนาอิสลาม ปรเมศวร จึงเลื่อน จากการ นับถือ ศาสนาฮินดู (ศิวะพุทธ) มาเป็นศาสนาอิสลาม และได้เฉลิมพระนามตามหลักการของศาสนาอิสลามมีนามว่า เมกัตอิสกานเดอร์ชาฮ์
เจ้าชายปรเมศวรต้องเดินทางไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน เพื่อขอให้จีนช่วยเจรจาห้ามปรามกษัตริย์ไทย ทำการรุกราน มะละกา ซึ่งฝ่ายไทยถือว่า ดินแดนมะละกา อยู่ในความปกครองของไทยมาก่อน ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่า "ครั้งนั้น พระยา ประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์" และในกฎ มณเฑียรบาล ประมาณว่าเขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวปี พ.ศ.๑๙๐๓ หรือ ๑๙๙๐ ก็ว่า "กษัตริย์ แต่ได้ถวายดอกไม้ทองเงินนั้น เมืองใต้ เมืองอุยงตาหนะ (หรือฮุยงเมทนี ยะโฮร์ และสิงคโปร์) เมืองมะละกา เมืองมลายู เมืองวรวารี (ไทรบุรี) ๔ เมืองถวายดอกไม้ทองเงิน"
พ.ศ.๑๘๖๖ อาณาจักรสุโขทัยหลังจากพ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์ (พ.ศ.๑๘๔๓) แล้ว กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา ไม่สามารถ ดำรงความเป็น ผู้นำ ไว้ได้ พระบรมราชากษัตริย์แห่งรัฐละโว้ อโยธยา ทรงปฏิเสธต่ออำนาจอาณาจักรสุโขทัย ได้เข้ายึดครอง เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนถึงหัวเมืองต่างๆ บนแหลมมลายู ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า "เมื่อท้าวอู่ทอง กับท้าวศรีธรรมโศกราช จะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแท่นแล้ว พระยาศรีธรรมโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทอง ก็จูงพระกร ขึ้นมงกุฎ ของพระเจ้าศรีธรรมโศก ตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์ กับพระอนุชา ของพระองค์ ยังอยู่ ให้เป็นทอง แผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใดจะจัดแจงให้นานไปเบื้องหน้าให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา"
ชาวจีนชื่อ หวังต้าหยวน ก็ได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ.๑๓๔๙ (พ.ศ.๑๘๙๒) ว่า เสียน (สยาม) โจมตี Tammasik (สิงคโปร์) ซึ่ง "เสียน" ในที่นี่หมายถึง อาณาจักรละโว้-อโยธยา ของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ครั้นถึงปี พ.ศ.๑๘๘๕ กษัตริย์ละโว้-อโยธยา ก็ส่งพระพนมวัง-นางสะเดียงทอง ออกมาปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พระพนมวัง ได้สร้างเมืองนครดอนพระ (อำเภอกาญจนดิษฐ์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นเป็นศูนย์การปกครองอยู่ชั่วคราว ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๑๘๘๗ พระพนมวังแต่งตั้งให้พระฤทธิเทวา (เจสุตตรา) ออกไปครองเมืองปัตตานี หนังสือสยาเราะห์เมืองปัตตานี เรียกชื่อเมืองปัตตานีสมัยนั้นว่า "เมืองโกตามหลิฆัย" ส่วนหนังสือเนเกอรราเกอราคามา เรียกว่า "ลังกาสุกะ" ประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีกล่าวต่อไปว่า พระฤทธิเทวา (พระเปตามไหยกาของพญาอินทิรา) ได้นำชาวเมืองโกตามหลิฆัย ไปช่วยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างพระนคร ศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๐ - ๑๘๙๓)
พระฤทธิ์เทวา (เจสุตตรา) ครองเมืองโกตามหลิฆัยอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๒๗ ก็สิ้นพระชนม์ รวมเป็นระยะเวลาที่ครองราชย์อยู่ ๔๐ ปี กษัตริย์องค์ต่อไป ไม่ปรากฏนามชัดเจน ประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีระบุเพียงว่าเป็นสมเด็จพระอัยกาของพญาอินทิรา ครองราชย์ อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๒๗ - ๑๙๖๗ เป็นเวลา ๔๐ ปี พระโอรสมีนามว่าพญาตุกูรุปมหาจันทรา ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๖๗ - ๒๐๑๒ รวม ๔๕ ปี พญาอินทิราราชโอรสก็ได้ขึ้นครองนครโกตามหลิฆัยเป็นองค์สุดท้าย ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๕๗ รวม ๔๕ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น