ผู้คนและบ้านเมืองในยุคแรกของแหลมไทยมลายู :
ผู้คนในยุคแรกของแหลมไทย-มลายู กล่าวกันว่า เกิดขึ้นจากการผสมผสานชาติพันธุ์ระหว่างมนุษย์สมัยยุคหิน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๓ กลุ่มด้วยกัน คือ
๑. พวกมองโกลอยด์ (Mongoloid) กลุ่มนี้อาจจำแนกออกเป็น มอญ พม่า ไทย เขมร เวียดนาม ฉาน และลาว
๒. พวกนิกริโต (Nigrito) พวกนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ตามป่าเทือกเขาบรรทัดสันกาลาคีรี ตลอดไปถึงเขตแดนมาเลเซีย ได้แก่ พวกเซมัง ซาไก และเผ่าคนในหมู่เกาะนิวกินี เช่น พวกปาปวน เป็นต้น
๓. พวกออสตราลอยด์ (Australoid) มนุษย์กลุ่มนี้แยกออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ดังจะเห็นได้จากเครื่องมือเครื่องใช้ของคนในยุคนี้ทิ้งไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ขวานหิน หรือขวานฟ้า (บาตูลิตา) ซึ่งมีทั้ง รูปแบบใบขวาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และแบบขวานชนิดมีบ่าที่พบอยู่ทั่วไปในแหลมอินโดจีน ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน เรื่อยลงมา ถึงบ้านเก่า ในจังหวัดกาญจนบุรี ไปตลอดปลายแหลมมลายูโดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี พบขวานหินทั้ง ๒ ชนิด ที่บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงการเคยอยู่ร่วมกันของผู้คนเหล่านั้นในดินแดนนี้
สำหรับผู้คนในตระกูลไทยและมาเลย์นั้น ดร.ปอลเบนดิต (Dr.Poul Benediet) ชาวอเมริกัน และ มร.อีริคไซเดนฟาเดน (Mr.Erick Seidenfaden) ชาวเดนมาร์คกล่าวว่า สืบสายเลือดมาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ซึ่งตรงกับผล ของการศึกษาค้นคว้า ของพระยา สมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลล่าห์ ภายหลังใช้นามสกุลพระราชทานว่า สมันตรัฐ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า
"ข้าพเจ้าได้รวบรวมหนังสือมลายูเก่าๆ มากเล่มด้วยกัน ได้ความว่า เมื่อ พ.ศ.๗๓๔ แหลมมลายูนี้ยังไม่ได้เป็นบ้านเมือง คนที่มีอยู่บนแหลมนี้มี ๔ จำพวก คือ
จำพวกที่ ๑ เรียกว่า "กาฮาซี" จำพวกนี้มีผิวเนื้อดำ ดวงตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูง ใบหน้าบาน ฟันแหลม ชอบกินเนื้อสัตว์ และเนื้อคน มีนิสัยดุร้าย ซึ่งคนไทยเรียกว่า "ยักษ์"
จำพวกที่ ๒ เรียกว่า "ซาไก" ผมหยิกดำ ตาโปนขาว ริมฝีปากหนา จำพวกนี้ไม่ดุร้าย อยู่ชุมนุมกันเป็นหมู่ ทำเพิงเป็นที่อาศัย
จำพวกที่ ๓ เรียกว่า "เซียมัง" คล้ายกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนภูเขาสูงๆ
จำพวกที่ ๔ เรียกว่า "โอรังลาโวค" (ชาวน้ำ) อาศัยตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะ เที่ยวเร่ร่อนไม่อยู่เป็นที่
พวกชาวมลายูนี้ ได้ตรวจดูตามพงศาวดาร และประวัติศาสตร์ในภาษามลายูต่างๆ หลายเล่ม ก็ไม่ได้ความชัดเจนว่ามลายูเดี๋ยวนี้ สืบมาแต่ชาติใดแน่ เป็นแต่ความสันนิษฐานของผู้เขียนประวัติเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี สรุปความว่า ชาติมลายูนี้มาจาก โอรังลาโวค คือชาวน้ำเป็นแน่นอน ผสมกับพวกต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ชาวน้ำตามประวัติศาสตร์แหลมมลายูกล่าวว่า มาจากแหลมอินโดจีน แต่ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเท่าที่ได้ตรวจหลักฐานต่างๆ มาแล้ว ชาวมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย ทางเมืองละโค (นครศรีธรรมราช) ชุมพร ไชยา ก่อนชาติอื่นๆ แล้วยังมีชาติยะวา (ชวา) มาภายหลังจึงได้มีชาติอื่นๆ มาผสมด้วย
หนังสือสยาเราะห์มลายูว่า ชาติไทยได้มาเป็นเจ้าเมืองปาหัง และมาตั้งเมืองปัตตานีขึ้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ชาติมลายูนี้ มีโลหิตไทย อยู่มากกว่าชาติอื่น (ประวัติและเรื่องน่ารู้ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ หน้า ๙๔)
ส่วนนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Robbins Borling กล่าวไว้ว่า "ไม่มีผู้คนกลุ่มใดในเอเซียอาคเนย์ ที่จะกล่าวได้ว่า เป็นเผ่าบริสุทธิ์ ที่มีบรรพบุรุษเฉพาะเผ่าพันธุ์ตนเอง" (หุบเขาและทุ่งราบ ของปราณี วงษ์เทศ หน้า ๘๐)
กล่าวโดยสรุป ผู้คนในภาคใต้มีเลือดผสมผสานระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ที่ยังคงมีร่องรอยแสดงให้เห็นชัดเจนที่สุด จากผลของสงคราม และการติดต่อสัมพันธ์กันทางการค้า และสภาพการทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เขมร มอญ ชวา มลายู เซมัง และชาวน้ำ มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ คนไทยนั้น ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้จักกันในนาม "โอรังเสียม" หรือชาวสยาม อันเป็นนามประเทศ และชื่อของคนที่เป็นเจ้าของประเทศมาก่อนที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จะออกกฎหมาย รัฐนิยม มาบังคับใช้ชื่อประเทศไทยเป็นทางราชการสืบมาในปัจุบัน
คนเสียมเข้ามาสู่ไทย-มลายูนานเท่าไร ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ อาทิเช่น อิบรอฮิม ซุกรี กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าดินแดนแห่งนี้มีนามว่า ดินแดนมลายู แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวมลายูเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ดินแดน แห่งนี้ เพราะชาวมลายูเป็นชาติหลังที่สุดที่เข้ามาอยู่อาศัย หลังจากชนชาติอื่นได้เข้ามาอยู่ก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ มีชาวฮินดู เดินทาง มาจาก อินเดีย และมีชาวสยามซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่เดิม ได้เข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนสยาม จนกระทั่งช่วงสุดท้าย ชาวมลายูได้เข้ามาอาศัย" (กรียาอันมลายูปัตตานี ของอิบรอฮิม ซุกรี )
ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ว่า "เจ้าประเทศราชมลายูนั้น ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชาวมลายูมีบ้านเมืองอยู่ที่เกาะสุมาตรา เช่นที่เมืองแจมบี (Jambi) และเมืองมานังกาเบา รัฐหรืออาณาจักรมลายูยังไม่ขึ้นมาตั้งรกรากอยู่ปลายแหลมมลายู จนอีกร้อยปีต่อมา" (หนังสืออนุสรณ์ เรื่องราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ของ ขจร สุขพานิช) ศูนย์กลางของอาณาจักรแรกของมลายูก็คือรัฐมะละกา ราชาปรเมศวร เชื้อสายกษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ในเกาะชวา เป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๔๖
ในรัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) คนเผ่าไทยพื้นเมืองดั้งเดิมถูกเรียกว่า "พวกซัมซัม" หรือ "สามสาม" ซึ่งเป็นคำที่เลือนมาจากคำ "เสียม-เซียม" หรือ สยาม ตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อราชามารงมหาวังสา พร้อมด้วยอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ขึ้นฝั่ง เพื่อสำรวจ ภูมิประเทศ บนเกาะสรี พบว่า "ชาวพื้นเมืองล้วนแต่เป็นพวก Gergasi หรือ อสูร" ราชามารงมหาวังสา เป็นคนอินเดีย จึงมองเห็นคนพื้นเมือง ที่ด้อยความเจริญกว่า ว่าเป็นพวกยักษ์พวกมาร ดังที่เคยมองชาวศรีลังกามาแล้วในอดีต และอีกตอนหนึ่งว่า
"บรรดาเหล่าอสูร มีพระเจะเสียม และนางสุตามัน เป็นหัวหน้า" พระเจะเสียมผู้นี้ เป็นบุตรชาวพื้นเมือง..." (หนังสือตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ของ หลวงคุรุนิติพิศาล) จากข้อความในตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี แสดงให้เห็นว่า คนเสียมได้มาอาศัยอยู่ในแหลมมลายูมาช้านาน ทั้งจำนวนผู้คน และความเจริญ ก็คงจะเหนือกว่าชนเผ่าอื่นๆ จึงได้รับการบกย่องให้เป็นผู้นำของชุมชนซึ่งอยู่ร่วมกันหลากหลายเผ่าพันธุ์ ผู้คนเหล่านั้น ได้ประสมประสาน สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ จนเกิดลักษณะทางกายภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ต่อมา ผู้คนเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมชนขึ้นทำการปกครองกันเอง โดยมีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้นำ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ และได้มีการติดต่อ รับวัฒนธรรม จากชนชาติอินเดียที่เดินทางเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเกิดการพัฒนาชุมชน ขึ้นเป็นบ้านเมือง และแคว้นน้อยใหญ่ขึ้นมา บ้านเมืองยุคแรกที่ตั้งอยู่บนแหลมไทย-มลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจดหมายเหตุของชาวจีน ได้แก่ เมืองตันซุน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบริเวณท้องที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมืองนี้มี "พวกฮู (ชาวอินเดีย) มาอาศัยอยู่ถึง ๕๐๐ ครอบครัว และมีพวกพราหมณ์อีก ๑,๐๐๐ คน" ถัดมาก็เป็นเมืองฉีตู หรือเซียะโท้ว จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย บันทึกเรื่องราวของเมืองนี้ว่า "ฉีตู (หรือ เซียะโท้ว) เป็นประเทศที่มีชาวเมืองเป็นเชื้อชาติเดียวกับประเทศฟูนัน อยู่ทางทะเลใต้ ไปเรือ ร้อยกว่าวันถึง พื้นดินเมืองหลวงเกือบเป็นสีแดง ประเทศฉีตู มีเนื้อที่กว้างหลายพันลี้ พระเจ้าแผ่นดินมีนามโดยแซ่ว่า คุยถ่าน และมีพระนามโดยรัชกาลว่า หลีต่อซัก ประชาชนนับถือพระพุทธเจ้า แต่ก็นับถือพราหมณ์มาก เมืองหลวงชื่อสิงหปุระ ในปี พ.ศ.๑๑๕๐ จีนได้ส่งราชฑูตฉังจุนและหวังจุงเซงมาเยี่ยมเยียน ต่อมาปี พ.ศ.๑๑๕๑-๑๑๕๒ และ ๑๑๕๓ กษัตริย์เมืองฉีตู ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายจักรพรรดิ์จีนเป็นการตอบแทน ที่ตั้วเมืองฉีตู สันนิษฐานกันว่าอยู่ที่รัฐไทรบุรีหรือจังหวัดสงขลา และบ้างก็ว่าตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังหาข้อยุติมิได้
เมืองตัน-ตัน (หรือ ตาน-ตาน) อีกเมืองหนึ่ง ศาสตราจารย์เซเดส์ ว่าตั้งอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารชาวจีนว่าในปี พ.ศ.๑๑๑๓ ได้ส่งฑูตและเครื่องบรรณาการ ประกอบด้วย พระพุทธรูปแกะด้วยงาช้าง ๒ องค์ สถูป ๒ องค์ ไข่มุกอย่างดี ผ้าฝ้าย ยา และน้ำหอมต่างๆ ไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน
เมืองตัมมาหลิง ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อกันว่าเป็นเมืองเดียวกับเมืองตามพรลึงค์ ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกที่ค้นพบจากวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวจีนชื่อ เจาจูกัว ได้บันทึกถึงเรื่องราวของเมืองนี้ไว้ว่า "เมืองนี้มีกำแพงไม้กว้าง ๖ หรือ ๗ ฟุต ล้อมรอบ ซึ่งภายในกำแพงนี้อาจใช้เป็นลานสำหรับต่อสู้ได้ด้วย บ้านเรือนของข้าราชการสร้างด้วยไม้กระดาน บ้านของสามัญชนสร้างด้วยไม้ไผ่ มีใบไม้เป็นฝากั้นห้องและมัดด้วยหวาย (เรือนผูก) ผลิตผลพื้นเมืองมีขี้ผึ้ง ไม้จันทร์ ไม้มะเกลือ การบูร งาช้าง นอแรด"
จากเมืองลังกาสุกะมาเป็นเมืองปัตตานี :
จากเมืองลังกาสุกะมาเป็นเมืองปัตตานี :
จดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์เหลียง ชื่อเหลียงชู ได้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของเมืองนี้ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ความว่า "รัฐลัง-ยา-สิ่ว ตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๗ อยู่ในบริเวณทะเลใต้ ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง ๒๔,๐๐๐ ลี้ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศผัน-ผัน หรือ พาน-พาน ประเทศนี้มีความกว้างยาว วัดด้วยการเดินเท้าจากทิศใต้ไปจรดทิศเหนือ ใช้เวลาเดินทางกว่า ๒๐ วัน และหากเดิน จากทิศ ตะวันออก ไปถึงตะวันตกก็จะใช้เวลา ๓๐ วัน
ตัวเมืองลังกาสุกะ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตู และหอคอยคู่ พระราชา มีพระนามว่า ภคทัต (ยอเจียต้าตัว) เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใด จะทรงช้างเป็นพาหนะ มีฉัตรสีขาวกั้น มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลอง และทิวนำหน้า แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย คอยระแวดระวังพระองค์
ชาวเมืองนิยมไว้ผมยาว ผู้หญิงแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย (Ki-Pei) มีเครื่องเพชรพลอยประดับตบแต่งกาย ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง มีเชือกทอง คาดต่างเข็มขัด และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม
เมื่อปีที่สิบแห่งศักราชเถียนเจียน (ตรงกับปี พ.ศ.๑๐๕๘) กษัตริย์เมืองลังกาสุกะส่งราชฑูตชื่อ อชิตะ (อาเช่อตัว) ไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน ทางจีน ให้ช่างเขียน เขียนภาพราชฑูตไว้เป็นที่ระลึก คุณสังข์ พัธโนทัย ได้ให้คำบรรยายภาพว่า
" เป็นคนหัวหยิกหยองน่ากลัว นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ"( เมืองโบราณ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๒๑ - มกราคม ๒๕๒๒)ข้อความนี้ไปพ้องกับคำพังเพยของชาวปักษ์ใต้บทหนึ่งที่กล่าวว่า "ผมหยิก หน้าก้อ คอปล้อง น่องทู่" ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะของผู้ชายที่ไม่น่าไว้วางใจนักสำหรับท่านหญิง รูปลักษณะของฑูตลังกาสุกะนี้ เราจะพบเห็น ได้จาก ชาวชนบท ในภูมิภาคทักษิณของประเทศไทยได้ทั่วๆ ไป
หนังสือ เป่ยซู และสุยซู ของจีน ชี้ที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะไว้ในแวดวงที่กว้างขวางพอสมควร เช่นเดียวกับหนังสือ The Golden Khersonese ของศาสตราจารย์ปอล วิตลีย์ และหนังสือ Negara Kertagama ของพระปัญจ นักบวชในนิกายศิวะพุทธ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ว่าอยู่ในแคว้นปัตตานี ในอดีต (ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของรัฐตรังกานู และรัฐกลันตัน)
หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต (ฟอนฟลีต) ชาวฮอลันดา ซึ่งเคยมาตรวจกิจการค้าของบริษัทดัชอิสต์อินเดีย ที่ตั้งอยู่ในเมือง ปัตตานี และได้เข้าเฝ้าเจรจาปัญหาบ้านเมืองกับเจ้าหญิงอูงูรานีแห่งเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๑๘๕ ระบุที่ตั้ง เมืองลังกาสุกะ ว่าอยู่ห่างจากเมืองปัตตานีสมัยนั้น (บ้านกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี) ไปทางตอนเหนือของลำน้ำปัตตานี คือบริเวณ เมืองโบราณ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
ม้าฮวน ชาวจีนผู้มีประสบการณ์จาการเดินทางไปกับกองเรือรบของ นายพลเซ็งโห ผู้รับสนอง พระบรมราช โองการ จากพระเจ้า จักรพรรดิ์ ราชวงศ์หงวน ให้นำคณะฑูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร กองเรือของนายพลเซ็งโห ออกเดินทางจากจีน ตระเวนไปตามเมืองต่างๆ จนถึงอ่าวเปอร์เซีย และชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ผ่านอ่าวไทยถึง ๗ ครั้ง เคยแวะเยี่ยม ราชอาณาจักร สยาม ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยกรณีที่ปรเมศวร เจ้าเมืองมะละกา ร้องเรียนต่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จีน กล่าวหาว่า ไทยยกกองทัพไปรุกรานเมืองมะละกา เหตุเพราะมะละกาทำการแข็งเมือง ไม่ยอมสงเครื่องราชบรรณาการ ในบันทึก ของม้าฮวน ได้กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่า รัฐนี้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตรงเส้นรุ้งที่ ๖ .๕๔"- เหนือ
หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ (ภาคผนวก) ก็ว่า จังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ตรงเส้นละติจูด ๐๖-๕๑'-๓๐" เหนือ เช่นเดียวกับที่ม้าฮวนได้บันทึกไว้
หวัง-ต้า-หยวน เขียนไว้ในหนังสือ เต๋า-อี-ชีห์-ยูเลห์ ว่า ชาวเมืองลังยาเสี่ยว "ทั้งชายหญิงไว้ผมมวย ใช้ผ้าฝ้ายนุ่งห่ม และรู้จักการ ต้มน้ำทะเล เพื่อให้ได้เกลือมาใช้"
การทำนาเกลือ เพื่อใช้บริโภค และจำหน่ายในจังหวัดภาคใต้ มีอยู่ที่เมืองปัตตานี ทำเป็นสินค้าจำหน่ายมาแต่ต้นสมัยอยุธยาแล้ว ประวัติเมือง ปัตตานี ได้กล่าวถึงการทำนาเกลือไว้ชัดเจนในสมัยนางพญาฮียาและนางพญาบีรูปกครองเมืองปัตตานี แต่ไม่ปรากฏว่า เมืองใกล้เคียง ทำนาเกลือเป็น ทั้งที่บ้านเมืองเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ทะเล มีสภาพที่ดินคล้ายคลึงกัน พอที่จะใช้ในการทำนาเกลือได้ ดังปรากฏ หลักฐาน ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอู่ทองตรัสถามพญาศรีธรรมโศกราชว่า "เมืองของท่านขัดสิ่งใดเล่า แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า ขัดแต่เกลือ อาณาประชาราษฎร์ไม่รู้จักทำกิน และพระเจ้าอู่ทองว่า จงให้สำเภาเข้ามาจะจัดให้ออกไป"
การที่พงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า ชาวเมืองหลังยะเสี่ยว (หรือลังกาสุกะ) รู้จักการทำนาเกลือใช้ และไม่มีหัวเมืองใด ในภาคใต้ รู้จักการทำนาเกลือ นอกจากชาวเมืองปัตตานีเท่านั้น ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เมืองปัตตานีน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองลังกาสุกะได้
ปัจจุบัน การทำนาเกลือ ของชาวเมืองปัตตานี ก็ยังคงได้รับการสืบทอด เป็นอาชีพของชาวบ้านตำบลตันหยงลุโละ ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานี
เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นบ้านเมืองในยุคเดียวกัน เมืองทั้งสองเคยมีความเจริญรุ่งเรือง และประสบ ภัยพิบัติ จากสงคราม จนต้องตกเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรศรีวิชัย และของพระเจ้าราเชนทร์ แห่งโจฬะประเทศมาแล้วด้วยกัน เมืองทั้งสอง จึงมีวัฒนธรรม ร่วมกัน หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในด้านศาสนา ความเชื่อ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่ จะรับ ลัทธิ ลังกาวงศ์ เมืองนครศรีธรรมราชมีพระเจดีย์ที่มีรูปลักษณะและนามใช้เรียกขานเช่นเดียวกัน ดังปรากฏ หลักฐาน อยู่ในตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ดำริในพระทัยว่า ตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหาร และก่อพระพุทธรูป ปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ์ และได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัต และทำประตู ๒ ประตู จ้างคนทำวันละพันตำลึงทอง และพระบรรทม องค์หนึ่ง ทำด้วยสัมฤทธิ์ยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้น ๑ หน้าเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสัมฤทธิ์ สูงองค์ละ ๑๕ วา ตะกั่วดาด ท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงษ์ทอง ๔ ตัว ย่อมทองเนื้อ แล้วมาทำมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ และจำเริญ พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช"
คำ "พระมาลิกะเจดีย์" ของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของเมืองปัตตานีในอดีตคือ เมืองโกตามหลิฆัย (โกตา = เมือง หรือ ป้อมปราการ มลิฆัย (maligei) = เจดีย์หรือปราสาทราชวัง) เป็นคำยกย่อง สรรเสริญ บ้านเมือง สมัยนั้นว่า เจริญรุ่งเรือง ด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม ทางการสร้างสรรค์พระมหาเจดีย์ และปราสาทราชวัง ดุจดังที่ศรีปราชญ์ กล่าวไว้ในโคลง ที่ท่านเขียนขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ กรุงศรีอยุธยาว่า
อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร์ ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร์ ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม
คำ มลิกะ นั้น ทางปัตตานีเรียก Maligai (มะลิไฆ) เป็นภาษาทมิฬ เข้าใจว่าปัตตานีสมัยลังกาสุกะรับมาจากอินเดียใต้ สมัยที่ พระเจ้าราเชนทร์ เข้ามายึดครองเมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ทางเชิงช่างศิลปไทย เรียกเจดีย์มะลิกะ หรือเจดีย์มะลิไฆ ว่า ทรง ฉัตราวาลี พระเจดีย์แบบนี้ นอกจากจะมีการสร้างขึ้นที่เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) แล้ว ปรากฏว่ายังมีอยู่ที่เกาะสุมาตราตอนกลางที่มัวราตากุสอีกด้วย ซึ่งต่างก็รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการช่างของอินเดียใต้
พระมาลิกะเจดีย์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับเอา พระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ ในราว พุทธศตวรรษ ที่ ๑๗-๑๘ ก็ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบคลุมมาลิกะเจดีย์องค์เดิมไว้ (สาสน์สมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘)
ที่เมืองลังกาสุกะ (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) ปัจจุบันยังคงร่องรอยรากฐานเจดีย์น้อยใหญ่หลายองค์ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด และพบเจดีย์ดินเผาจำลอง (แบบมาลิกะเจดีย์) ในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้อีกเป็นจำนวนมาก
จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บ้านโคกอิฐ ตำบลพะร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บริเวณ สนามบิน และวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ระบุว่า เคยเป็นที่ตั้ง เมืองปัตตานี มาครั้งหนึ่ง แหล่งชุมชนดังกล่าวปรากฏว่า มีซากโบราณวัตถุสถานน้อยกว่าบริเวณชุมชนในท้องที่อำเภอยะรัง โดยเฉพาะ ในเขต ท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี และใกล้เคียงในพื้นที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีโบราณวัตถุ สถาน อันมี คุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบแล้ว ดังนี้
โบราณสถาน ได้แก่ ฐานเจดีย์และเนินดิน ประกอบด้วยอิฐที่มีลักษณะแบบอิฐสมัยทวารวดี ศรีวิชัย สลักหักพัง กระจายอยู่ ในท้องที่ บ้านประแว บ้านใหม่ บ้านวัด บ้านปิตุมุดี มากกว่า ๓๐ เนิน เฉพาะบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ที่บ้านวัด พบธรณีประตู ธรณีหน้าต่าง ทำด้วยศิลาสีขาว ๑๐ กว่าชิ้น สันนิษฐานว่า เนินดินแห่งนี้คงเป็นที่ตั้งโบราณสถานที่สำคัญของเมือง และเนินดิน ที่ตั้งอยู่ ด้านตรงกันข้าม พระภิกษุวัดสุขาวดีเคยทำการขุดมาแล้ว ปรากฏว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ พบผนังอิฐ ก่อลึกลงไป ใต้พื้นดิน ประมาณ ๒ เมตร ปัจจุบันเจ้าของที่ดินได้กลบหลุมที่ขุดทิ้งไว้ ปลูกต้นเงาะขึ้นปกคลุมหมดแล้ว คงเห็นแต่ ฐานเจดีย์ ปรากฏอยู่ ฐานพระเจดีย์องค์นี้ หากได้มีการขุดแต่งดินใหม่แล้ว คงจะได้ทราบ รูปแบบ องค์พระเจดีย์ ว่าอยู่ใน ลักษณะ รูปแบบ เจดีย์โบราณ สมัยใด อันจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาตีความด้านอายุของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง
โบราณวัตถุ พบพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีประทับยืน ปางประทานพร ๑ องค์ และปางอาหูยมุทรา (ปางกวักพระหัตถ์) อีก ๑ องค์ สูงขนาด ๖๐ เซนติเมตร ชาวบ้านพบที่บริเวณทุ่งนาบ้านกำปงบารู ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง และ วัดตานีนรสโมสร วัดละ ๑ องค์
พระพุทธรูปนูนต่ำ แกะในแผ่นศิลาแดงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๖ นิ้ว เป็นรูปพระโพธิสัตว์ อมิตาภะ พุทธเจ้า พบอยู่ในซาก องค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง
ธรรมจักรศิลา สูง ๑๓ เซนติเมตร วงล้อกว้าง ๒๖ เซนติเมตร มีกงล้อ ๘ อัน ไม่มีลวดลายแกะสลักประดับตกแต่งวงล้อ ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมืองปัตตานี
กุฑุ หรือ ซุ้มเรือนแก้ว ทำด้วยปูนปั้นผสมกรวดทราย มีลวดลายดอกไม้แบบศิลปอมรวดี คล้ายรูปจำหลักศิลาที่นาคารซุนกอนดา ประเทศอินเดีย และชิ้นส่วนปูนปั้นซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม แต่ละชิ้นมีความกว้าง-ยาว ขนาดแผ่นอิฐ มีลวดลาย บัวคว่ำ และลายหน้ากระดาน ศิลปะสมัยคุปตะเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า เป็นส่วนประกอบ ของสถูป ที่ถูกทำลาย หรือปรักหักพังลง เพราะความเสื่อมสภาพของวัตถุ ที่ถูกฝนและอากาศชื้นกัดกร่อนมานานปี ชิ้นส่วนปูนปั้นเหล่านี้ พบในสวน ทุเรียนใกล้บ้านปอชัน ตำบลปิตุมุดี ปัจจุบันมอบให้ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลาเก็บรักษาไว้
สถูปดินเผาจำลอง พบเป็นจำนวนมากอยู่ในซากองค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง มีหลายขนาดหลายรูปแบบ อาทิ ทรงฉัตรวาลี ที่ปัตตานีและชวาเรียกแบบอย่างชาวทมิฬว่า จันฑิมะลิฆัย หรือมะลิกะเจดีย์ ตามตำนาน พระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และทรงกมลมีลวดลายหน้ากระดานโดยรอบองค์สถูป น. ณ ปากน้ำ นักประวัติศาสตร์ ศิลปะ ของเมืองไทย กล่าวว่า "เป็นสถูปเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบมาในเอเซียอาคเนย์ เหมือนสถูปแบบคุปตะที่กุสินาราและที่สารนาถ" (วารสารเมืองโบราณ ธันวาคม ๒๕๒๑ เรื่อง ศิลปะแบบทวารวดีที่ปัตตานี)
ศิวลึงค์ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ มีลักษณะใกล้เคียงองคชาติมาก ส่วนยอดเป็นรูปกลมเหมือนของจริง เรียกว่า "รุทธภาค" ท่อนกลางเป็นรูปเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม เรียกว่า "วิษณุภาค" ฐานล่างทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า "พรหมภาค" สูง ๔๔ เซนติเมตร พบที่กูโบ หรือสุสานบ้านยะรัง ชาวบ้านนำไปใช้แทน "แนแซ" หรือ หินเครื่องหมายเหนือหลุมศพตามประเพณีของชาวมุสลิม องค์ที่ ๒ วิทยาลัยครูยะลาเป็นผู้นำไปเก็บรักษาไว้ องค์ที่ ๓ มีขนาดย่อมกว่า พบที่บ้านป่าศรี พระภิกษุวัดป่าศรี มอบให้เอกชน ไม่ทราบนาม และสถานที่อยู่ชัดเจน ทราบเพียงว่าเป็นชาวบ้านฝั่งธนบุรี
แม่พิมพ์ต่างหู ใช้สำหรับหลอมต่างหูด้วยโลหะ เช่น สำริด หรือตะกั่ว ทำด้วยศิลาสีดำ และศิลาสีแดง รวม ๒ พิมพ์ เป็นรูป สี่เหลี่ยม จัตุรัสขนาด ๑๒ x ๒ เซนติเมตร แม่พิมพ์สีแดงพบภายในกำแพงเมืองโบราณบ้านประแว ตำบลยะรัง ลักษณะ รูปแบบ ของแม่พิมพ์ คล้ายกับแม่พิมพ์ต่างหู ที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน มอบให้ศูนย์ศึกษา เกี่ยวกับ ภาคใต้ เก็บรักษาไว้
โยนีโธรณ ทำด้วยศิลา สัญญลักษณ์แทนองค์พระอุมา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑ เมตรเศษ ที่กึ่งกลาง เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๖ x ๖ สำหรับวางองค์ศิวะลึงค์ และเซาะร่องรอยริมขอบแผ่นโยนีโธรณ พบในสวน ชาวบ้าน ตำบลวัด ขณะขุดหลุมปลูกแตงกวา ชาวบ้านเรียก "ตาเปาะฆาเยาะ" (รอยเท้าช้าง) ได้มอบให้ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา นำไปเก็บรักษาไว้
แท่นหินบดยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานสี่เหลี่ยมสูง ๑๓ เซนติเมตร กว้าง ๒๒ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร พบที่บ้านต้นทุเรียน ตำบลยะรัง ๒ แท่น และที่บ้านตามางัน ๑ แท่น ชาวบ้านเรียก "ลือชงยาวอ" (ครกชวา) ส่วนลูกกลิ้งหินบด พบเพียง ส่วนชำรุด รูปลักษณะ คล้ายหินบดที่พบตามเมืองโบราณในภาคกลางดังที่กล่าวมาแล้ว
พระสุริยเทพ ทำด้วยสำริดขนาด ๒๐.๓๐ x ๑๐.๓๐ เซนติเมตร ประทับยืนเหนือแท่นปทุมอาสน์ บนราชรถเทียมด้วยม้า ๗ ม้า มีพระอรุณเทพ ทำหน้าที่สารถี นั่งบังคับม้ามาด้านหน้า ด้านข้างประกอบเทพบริวาร ๔ องค์ คือ ทัณฑีเทพ ปิงคละเทพ และ เทพธิดา มีนามว่า ปรัตยุตาเทพีและอุษาเทพี นั่งมาในราชรถ พบที่บริเวณบ้านกูวิง ปัจจุบันตกไปเป็นสมบัติของเอกชน (พระสุริยะสำริด พบที่เมืองโบราณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยผาสุข อินทราวุธ วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาคปลายปีการศึกษา ๒๕๒๙)
นอกจากนี้ยังพบเทวรูปนารายณ์ และชิ้นส่วนของนางตารา ทำด้วยสำริดที่ใกล้บริเวณบ้านเกาะหวาย ตำบลวัด ชาวบ้านเรียก พื้นที่ พบโบราณวัตถุนี้ว่า "วะสมิง" (วัดสามี) ปัจจุบันพระภิกษุรูปหนึ่งนำไปหล่อพระพุทธรูปแล้ว
โบราณวัตถุสถาน และเรื่องราวในจดหมายเหตุของชนชาติต่างๆ ที่กล่าวแล้ว แสดงว่า บริเวณเมืองโบราณ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ในอดีตน่าจะเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งเมืองลังกาสุกะ มิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏซากโบราณ และชิ้นส่วน โบราณวัตถุ ที่มีอายุไม่น้อยกว่าปีพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะซากโบราณสถานและโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธ สาสนาพราหมณ์นั้น เมื่อชาวเมืองเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มารับศาสนาอิสลามในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ แล้วนั้น น่าจะถูกทำลาย หรือ นำไปจำหน่าย แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ จนหมดสิ้น เฉพาะโบราณวัตถุจำพวกสำริด ซึ่งเป็นของมีค่าและหายากในท้องถิ่น จึงคงมีเหลือ อยู่น้อยมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น