วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บทความชวนอ่าน - ปาตานีในอดีตไม่ใช่รัฐอิสลาม


ปาตานีในอดีตไม่ใช่รัฐอิสลาม

ประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลาม


โดย...อาลี เสือสมิง



          คำว่า “ปัตตานี ดารุสสลาม” (فطانىدارالسلام) ซึ่งมีความหมายว่า “ปัตตานี นครรัฐแห่งสันติภาพ” ได้ถูกเรียกขานภายหลังการเข้ารับอิสลามของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม (เดิมคือ พญา ตู นักปา อินทิรา มหาวังสา) ในราวปีค.ศ.1457 (Cheman 1990 p.34) โดยมี ชีค ซาอีด ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามเข้าสู่ราชสำนักของปัตตานีเป็นผู้ตั้งชื่อ (อารีฟีน บินจิและคณะ ; “ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” (2550) หน้า 63) ในชั้นหลังมีการเรียกดินแดนปัตตานีว่า “ปัตตานี ดารุ้ลมะอาริฟ” หมายถึง “ปัตตานี นครรัฐแห่งสรรพวิทยา” อีกเช่นกัน


          ประวัติศาสตร์ “ปัตตานี ดารุสสลาม” ถือเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นการเฉพาะและถือเป็นส่วนหนึ่งจากประวัติศาสตร์ของชาติสำหรับพลเมืองของประเทศโดยรวม ในช่วงหลัง ๆ มานี้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของปัตตานี ดารุสสลามกันอย่างคึกคักโดยเฉพาะในแวดวงนักวิชาการผู้สันทัดกรณีและผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบทความนี้จะมุ่งวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตต่อข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลามในเชิงรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อิสลามเป็นหลัก



         เนื่องจากมีการนำเอาเหตุการณ์ในอดีตซึ่งโดยมากจะเกี่ยวพันกับสงครามประเพณีระหว่างสยาม-ปัตตานีมาอ้างเพื่อปลุกระดมผู้คนในท้องที่ให้เกิดความรู้สึกร่วมในการฟื้นฟูปัตตานีดารุสสลามในฐานะรัฐเอกราชที่เคยรุ่งเรืองและเป็นเกียรติภูมิสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู และตอกย้ำความทารุณโหดร้ายที่ชาวมุสลิมมลายูได้รับจากสยามในฐานะผู้รุกรานและผู้ทำลายนครรัฐที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในคาบสมุทรมลายู มัสยิดปินตูกืรบัง (กรือแซะ) พระราชวังอิสตานะฮฺนีลัม และบ้านเรือนของราษฎรถูกเผาทำลาย ลูกหลานสุลต่าน วงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และประชาชนหลายพันคนถูกกวาดต้อนเป็นเชลย (อ้างแล้ว หน้า 150) 


          สงครามและความพ่ายแพ้ที่ชาวมลายูปัตตานีประสบได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวด เคียดแค้นและชิงชังสยามตราบจนทุกวันนี้ การปลุกความรู้สึก (สมางัต) โดยอ้างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และความเจ็บปวดที่บรรพบุรุษของชาวมลายูปัตตานีได้รับจึงสอดรับกับคติชาติพันธุ์นิยมอย่างลงตัวและมีผลทำให้ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจของผู้ที่ถูกปลุกระดมมีความซับซ้อนและฝังลึกมากยิ่งขึ้น ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมิใช่สิ่งที่ผู้คนรับรู้กันโดยผิวเผิน หากแต่เป็นมายาคติที่ถูกตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ทั้งในรูปของมุขปาฐะที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นและการเขียนตำรับตำราอิงประวัติศาสตร์ตลอดจนการถ่ายทอดผ่านการบรรยาย อภิปราย หรือแม้กระทั่งการสัมมนาในหลาย ๆ โอกาส 


         อย่างไรก็ตาม เรื่องราวข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นข้อมูลดิบที่ผู้คนในยุคหลังสามารถวิเคราะห์และสืบค้นเพื่อเพิ่มเติมมิติและแง่มุมต่าง ๆ ที่อาจจะถูกละเอาไว้ได้เสมอ




ปัตตานีเป็นรัฐอิสลาม


          ก่อนหน้าที่ศาสนาอิสลามจะเผยแผ่เข้ามายังปัตตานีนั้นพลเมืองและราชสำนักของปัตตานีถือในศาสนาฮินดู-พราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายาน (ตารีคปาตานี น.4-5) โดยมีชาวอินเดียเป็นผู้นำเข้ามาเผยแผ่ ต่อมาภายหลังเมื่อศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้ามายังปัตตานี พลเมืองมลายูจึงเข้ารับอิสลามทำให้ในดินแดนปัตตานีมีทั้งมลายูมุสลิม และมลายูพุทธ ศาสนาอิสลามเป็นที่ยอมรับของชาวมลายู มาก่อนหน้าการเข้ารับอิสลามของราชสำนักปัตตานีเป็นเวลาหลายร้อยปี ครั้นถึงราว ปีค.ศ.1457 พญาตู นักปา อินทิรา มหาวังสาและเหล่าบรรดาอำมาตย์มนตรี แม่ทัพนายกอง รวมถึงพระโอรสและพระธิดาก็เข้ารับอิสลามอย่างเป็นทางการด้วยการเชิญชวนของชัยค์ ซาอีด



           ปัตตานีจึงกลายเป็นรัฐอิสลามนับแต่บัดนั้น โดยถูกเรียกขานว่า “ปาตานี ดารุสสลาม” มีการรับรูปแบบการปกครองของอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง โดยถือเอาคัมภีร์อัลกุรอ่าน เป็นธรรมนูญการปกครอง และอัลฮะดีษ เป็นแนวปฏิบัติในวิถีชีวิต มีผู้รู้ในศาสนาอิสลามเป็นที่ปรึกษาทางศาสนาและกฎหมายชะรีอะฮฺ ในส่วนของชัยค์ ซาอีดนั้นนักวิชาการบางท่านเรียกตำแหน่งของท่านว่า “ชัยคุลอิสลาม” ทำหน้าที่ตีความ (FATWA) ปัญหาทางศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรปาตานีอีกด้วย (ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ; อารีฟีน บินจิและคณะ หน้า 63,64,66)


         การที่ปัตตานีเปลี่ยนสภาพจากรัฐพราหมณ์-พุทธมาเป็นรัฐอิสลามนี้คงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการเปลี่ยนสภาพของรัฐมลายูอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ อาทิเช่น รัฐมลายูในอาเจะห์ , สุมาตรา , ชวา , กลันตัน , ตรังกานู , มะละกาและปาหัง เป็นต้น ทั้งนี้รัฐมลายูเหล่านี้ได้เปลี่ยนสภาพจากรัฐพราหมณ์-พุทธมาเป็นรัฐอิสลามด้วยลักษณะและวิธีการคล้าย ๆ กัน หากรัฐปัตตานีเป็นรัฐอิสลามด้วยการเผยแผ่ของผู้รู้ทางศาสนาอิสลามและการยอมรับของพลเมืองมลายูและราชสำนัก รัฐมลายูอื่น ๆ ก็เช่นกัน แต่ทว่าทั้งหมดได้เปลี่ยนสภาพเป็นรัฐอิสลาม บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงเลยหรือไม่? 



           กล่าวคือ เป็นรัฐอิสลามทั้งภาพลักษณ์ภายนอก โครงสร้างระบอบการปกครอง และจิตวิญญาณ หรือเป็นรัฐของชาวมลายูมุสลิมที่ยังคงมีอิทธิพลของวัฒนธรรมและความเชื่อแบบมลายูโบราณฝังรากหยั่งลึกอยู่ซึ่งบางทีวัฒนธรรมและความเชื่อดังกล่าว อาจจะเป็นผลพวงจากการรับเอาคติความเชื่อฝ่ายพราหมณ์-พุทธที่มีอิทธิพลเข้มข้นมาก่อนในภูมิภาคนี้ ทั้งในส่วนของนุสันตารา (อินโดนีเซีย) และคาบสมุทรมลายู ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามได้เข้าไปแทนที่ศาสนาพุทธในราชสำนักแล้ว และมีผลทำให้โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของปัตตานีโดยภาพรวม ๆ ค่อย ๆ กลายสภาพจากความเป็นสังคมมลายูที่แฝงด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมผสมชวาและฮินดู-พุทธ มาเป็นสังคมมลายูที่ยึดเกาะกับวัฒนธรรมอิสลามมากขึ้นก็ตาม (รัฐปัตตานีในศรีวิชัย ; สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ , สำนักพิมพ์มติชน (2547) หน้า 243) 


           และในรัชสมัยของสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ซึ่งศาสนาอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองและแผ่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์และอาณาจักรอื่น ๆ ในแหลมมลายู ชัยค์ ซาอีดซึ่งเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามเข้าสู่ราชสำนักและเรียกขานดินแดนนี้ว่า ปัตตานี ดารุสสลาม ก็ยังคงพักอาศัยอยู่ใน “เบียรอ” (วิหาร) เพราะขณะนั้นคนที่นับถือศาสนาอิสลามยังมีไม่มากนัก คนทั่วไปยังคงนับถือศาสนาฮินดู-พุทธและยังไม่มีการสร้างมัสยิดขึ้นแต่อย่างใด (ดูรายละเอียดใน “ปาตานีประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” อ้างแล้ว หน้า 66,73) การสร้างมัสยิดแห่งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัย สุลต่านมุศ็อฟฟัร ชาห์ ตามคำแนะนำของเชค ซอฟียุดดีน ซึ่งระบุว่า : “รัฐอิสลามนั้น ต้องมีมัสยิดสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้ราษฎรใช้เป็นสถานที่สักการะพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ ตะอาลา หากไม่มีมัสยิดก็จะไม่เห็นความเป็นรัฐอิสลาม” (อ้างแล้ว หน้า 73, และ A.Teeuw & D.K.Wyat p.78) 



           การเป็นรัฐอิสลามของปัตตานีดารุสสลามจึงมิได้เกิดขึ้นแบบเบ็ดเสร็จและสมบูรณ์นับแต่การเข้ารับอิสลามของปฐมกษัตริย์แห่งศรีมหาวังสา (ซุลต่าน อิสมาอีล ชาฮฺ) อย่างที่เข้าใจ แต่ค่อย ๆ มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นรัฐอิสลามอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรื่องราวของพ่อค้าชาวเมืองมินังกาเบาจากเกาะสุมาตรา คือ ชีค ก็อมบ็อก กับลูกศิษย์ที่ชื่อ อับดุลมุบีน ลักลอบขายทองเหลืองให้กับพ่อค้าชาวมะละกา จนเป็นเหตุให้ถูกประหารชีวิต เนื่องจากกระทำผิดต่อคำประกาศของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ และถูกนำศพไปทิ้งในแม่น้ำยะหริ่ง โดยห้ามมิให้ฝังศพบุคคลทั้งสองบนแผ่นดินปัตตานี (อ้างแล้ว หน้า 70/รัฐปัตตานีในศรีวิชัย หน้า 340) ก็ถือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความน่ากังขาว่า 


           ปัตตานีดารุสสลาม เมื่อแรกเป็นรัฐอิสลามนั้น ถือรูปแบบการปกครองของอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมืองและตัดสินคดีความตามกฎหมายชะรีอะฮฺจริงจังหรือไม่ ? 


         เพราะบุคคลทั้งสองที่ถูกประหารชีวิตนั้นถึงแม้จะกระทำผิดต่อคำประกาศของสุลต่าน แต่ก็เป็นมุสลิม เมื่อถูกประหารชีวิตแล้วก็น่าจะจัดการศพของบุคคลทั้งสองตามกฎหมายชะรีอะฮฺและที่สำคัญในเวลานั้น ชัยค์ ชะอีด ซึ่งมีตำแหน่ง“ชัยคุลอิสลาม” ตามที่มีนักวิชาการบางท่านระบุ (พีรยศ ราฮีมมูลา “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” บรรยายที่มอ.ปัตตานี 16 สิงหาคม 2546) ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และมีตำแหน่งรับผิดชอบในการตีความ ฟัตวา ปัญหาทางศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรปัตตานี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับข้อความที่ระบุในทำนองว่า ปัตตานี ดารุสสลามเป็นรัฐอิสลามที่บังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮฺ และมีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษาทางศาสนาแก่สุลต่านโดยมีตำแหน่งเป็นถึง “ชัยคุลอิสลาม” เลยทีเดียว (อ้างแล้ว หน้า 66)


            ในรัชสมัยสุลต่าน มันโซร ชาห์ แห่งราชวงศ์ศรีมหาวังสา พระองค์ทรงสูญเสียพระธิดาองค์เล็ก ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ 5 พระชันษาเท่านั้น พระองค์รับสั่งให้ฝังพระศพของพระธิดาไว้ใกล้กับพระราชวัง เสาหลักที่หลุมศพประดับด้วยทองคำ และมีโองการมิให้ประชาชนพลเมืองใช้ครกตำข้าวเป็นเวลานาน 40 วัน เนื่องจากพระองค์มีความเชื่อว่าการใช้ครกตำข้าวจะทำให้พื้นดินสั่นสะเทือน รบกวนพระศพของพระธิดาอันเป็นที่รักของพระองค์ทำให้ประชาชนต้องหยุดตำข้าว หากมีความจำเป็นก็ต้องไปให้ห่างจากวังหลวงจนไปถึงบ้านสุไหงปาแน (บริเวณบ้านบานาในปัจจุบัน)  (อ้างแล้ว หน้า 77) ความเชื่อเช่นนี้ตลอดจนการประดับเสาหลักที่คลุมศพด้วยทองคำเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนของอิสลาม ทั้ง ๆ ที่ในรัชสมัยของสุลต่านมุศอฟฟัร ชาห์ ท่านดาโต๊ะ ราชาศรี ฟากิฮฺ (Raja Seri Faqih) หรือชัยค์ ซอฟียุดดีน เป็นผู้ทำหน้าที่ปรึกษาศาสนาอิสลามในราชสำนัก (อ้างแล้ว หน้า 73) 


         ซึ่งถ้าหากท่านชัยค์ ซ่อฟียุดดีนสิ้นชีวิตไปแล้ว ก็ยังมีบุตรชายของท่านนามว่า วันมุฮำหมัด ทำหน้าที่เป็นครูสอนศาสนาให้แก่ราชา มันโซร พระอนุชาของสุลต่าน (A.Malek p.38) รวมถึงท่านวัน ญาฮารุลลอฮฺซึ่งเป็นหลานของดาโต๊ะ ราชา ศรีฟากิฮฺ และเป็นพระพี่เลี้ยงของพระโอรสและธิดาของสุลต่านมันโซร ชาห์ (อ้างแล้ว หน้า 77) จริงอยู่ที่ความผิดเพี้ยนในเรื่องความเชื่อเดิมอาจจะยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ในปัตตานีดารุสสลาม เพราะในขณะนั้นยังถือว่าปัตตานีดารุสสลามเป็นรัฐอิสลามที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในคาบสมุทรมลายู แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าปัตตานีดารุสสลามในเวลานั้นยังคงมีอิทธิพลของความเชื่อเดิมผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวมลายู



            ประเด็นของการขึ้นครองอำนาจในปัตตานีดารุสสลามของบรรดาสุลตอนะฮฺ (กษัตริยา) นับแต่รัชสมัยราชินีฮิเยา (1584-1616) , ราชินีบีรู (1616-1624) , ราชีนีอูงู (1624-1635) และราชินีกูนิง (1635-1686) ในราชวงศ์ศรีมหาวังสา รวม 4 พระองค์ และราชินีมัสกลันตัน (1960-1707), ราชินี มัสชายัม (1707-1710) และราชินีเดวี (1710-1719) ในรัชสมัยหลังรวมปัตตานีดารุสสลามมีราชินีเป็นผู้ปกครองสูงสุด 7 พระองค์ ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับประเด็นที่ว่า ปัตตานีดารุสสลามใช้ระบอบอิสลามและกฎหมายชะรีอะฮฺในการปกครองตามที่ระบุข้างต้น ทั้งนี้นักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขของประมุขสูงสุด (إمامأعظم) ของรัฐอิสลามว่าต้องเป็นเพศชาย (الذكورة) โดยมติเอกฉันท์ (الإجماع)   (อัลฟิกฮุ้ลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮฺ ; ดร.วะฮะบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; สำนักพิมพ์ ดารุ้ลฟิกรี่ ดามัสกัส (1984) เล่มที่ 6 หน้า 693)



         เหตุที่มีราชินีหลายองค์ปกครองปัตตานีดารุสสลามนั้นเนื่องจากมีการฆาตรกรรมระหว่างพี่น้องที่เกิดขึ้นภายในพระราชวังปัตตานีถึง 2 ครั้งทำให้พระโอรสสิ้นพระชนม์ถึง 4 พระองค์ คือ สุลต่านปาติกสยาม, ราชาบัมบัง , สุลต่านบะฮาดุรและราชาบีมา ดังนั้นบรรดาขุนนางจึงได้ประชุมหารือเพื่อเลือกสรรผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ปกครองปัตตานีต่อไป เมื่อไม่มีพระโอรสจึงพิจารณาเลือกพระธิดา คือ ราชินีฮิเยา ปัตตานีดารุสสลามจึงเป็นอาณาจักรแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ผู้ปกครองเป็นสตรี ก่อนจะมีขึ้นในเมืองอาเจะห์ (ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู หน้า 84)


          การปกครองรัฐที่มีสตรีเป็นประมุขสูงสุดในฐานะกษัตริยาของปัตตานีดารุสสลาม อาจจะเป็นเรื่องที่อนุโลมได้ในกรณีจำเป็น (الضرورة) เนื่องจากรัฐจำเป็นต้องมีประมุขเป็นผู้ปกครองสูงสุด รูปแบบการปกครองอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ ตราบใดที่หลักศาสนบัญญัติยังถูกบังคับใช้ (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่ 6/664-665) และการมีประมุขในสภาวะเช่นนี้เป็นกรณียกเว้น (حالةاستثناﺌﻴﺔ) และเป็นการป้องกันการหลั่งเลือด (อ้างแล้ว หน้า 682) 


          อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ของปัตตานีดารุสสลาม กรณีมีประมุขเป็นสตรีหรือกษัตริยาหลายพระองค์ติดต่อกัน ก็ดูจะยาวนานจนเกินความจำเป็นอีกทั้งนักวิชาการก็ระบุว่า นักนิติศาสตร์อิสลามทั้งหมดต่างก็มีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจฺญมาอฺ) ว่า ตำแหน่งประมุขสูงสุด (อิมามะฮฺ) จะไม่มีการสืบทอดเป็นมรดก (إنالأمامةلاتورث) (อัลฟัซฺล์ ฟิลมิลัล วันนิฮัล ; อิบนุ ฮัซฺมิน 4/167) 


       ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขของประมุขสูงสุดในรัฐอิสลามอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้ หากผู้นั้นสามารถชิงอำนาจในการปกครองเหนือผู้คนทั้งหลายได้สำเร็จ และการปฏิบัติตามเชื่อฟังประมุขที่ได้อำนาจมาด้วยวิถีทางนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นตามมา (อ้างแล้ว 6/683) ซึ่งก็พอจะรับฟังได้ในกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐปัตตานีดารุสสลาม ทั้งนี้โดยพิจารณาว่าบรรดาเหล่ามนตรี ขุนนาง และแม่ทัพมีสถานะเทียบได้กับสภาที่ปรึกษา (أهلالشورى) ซึ่งมีการประชุมหารือและมีมติในการยกเอาสตรีขึ้นเป็นประมุขสูงสุดในการปกครอง กระนั้นนักวิชาการอิสลามก็ยังกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของสภาที่ปรึกษานี้เอาไว้หลายประเด็นอีกเช่นกัน (ดูรายละเอียดในอัลฟิกฮุลอิสลามีย์ ฯ อ้างแล้ว 6/684-687) 



           การเป็นรัฐอิสลามที่สมบูรณ์ตามระบอบรัฐศาสตร์อิสลามสำหรับกรณีของปัตตานีดารุสสลามจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงรายละเอียดกันต่อไป และทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นรัฐอิสลามในเชิงรัฐศาสตร์อิสลามเท่านั้น มิได้มุ่งหักล้างและปฏิเสธข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะน้อยนักที่จะพูดถึงกันในประเด็นนี้ ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญอยู่มิใช่น้อยในการยืนยันความเชื่อ ความเข้าใจและความเป็นจริง ที่ระบุถึงปัตตานีดารุสสลามว่าเป็นรัฐอิสลามตามที่เล่าและเขียนสืบกันมาว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด 


วัลลอฮุอะอฺลัม